20. เศรษฐีใจบุญกับแนวคิด “ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ”

มหาเศรษฐีติดอันดับโลกจำนวนไม่น้อยที่บริจาคเงินหรือก่อตั้งหน่วยงานการกุศล และดำเนินการช่วยเหลืออย่างจริงจัง หลายรายบริจาคความมั่งคั่งของตนเองกว่าครึ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ลองมาดูเทรนด์ของมหาเศรษฐีเหล่านี้พวกเขาทำประโยชน์ให้แก่โลกใบนี้อย่างไร และสิ่งเหล่านี้สะท้อนแนวคิดอะไรของพวกเขาได้บ้าง…
ทั่วโลกคงไม่มีใครไม่รู้จักอภิมหาเศรษฐีติดอันดับโลกที่มีนามว่า “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ด้วยนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมวงการไอทีโลกไปตลอดกาล แต่ในอีกด้านหนึ่งเขายังเป็น “มหาเศรษฐีใจบุญ” โดยบิลและภรรยา “เมลินดา เกตส์” ได้ก่อตั้งมูลนิธิ “บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์” มาตั้งแต่ปี 2000 เพื่อทุ่มเทให้กับโครงการด้านสาธารณสุขและการบรรเทาความยากไร้ โดยผลงานสำคัญมากมาย อาทิการต่อสู่กับโรคมาลาเรียและอีโบลา บิลบริจาคหุ้นไมโครซอฟต์ให้แก่มูลนิธิของเขามาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือน พ.ย. 57 ที่ผ่านมา มูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์มีมูลค่าสูงกว่า 42,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ภาพจาก www.cnbc.com

ในปี 2010 เขาก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของไมโครซอฟต์ และสร้างความเซอร์ไพรส์ให้แก่คนทั่วโลกด้วยการประกาศตัวว่าเขาจะ “อุทิศ” ชีวิตที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้แก่การกุศล และการประกาศในครั้งนั้นอาจเป็นการ “จุดประกาย” ให้มหาเศรษฐีทั่วโลกได้หันมามองในสิ่งที่เขาทำ บิลเคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่เขาอุทิศตนและบริจาคให้แก่การกุศลว่า “พอถึงจุดหนึ่ง เงินก็ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับผมอีกต่อไป แต่เงินจะมีประโยชน์หากเรานำมาสร้างหน่วยงานเพื่อแบ่งปันทรัพยากรให้แก่ผู้ยากจน ซึ่งยังมีอีกมหาศาล”

วัฒนธรรมแห่งการให้…กับมหาเศรษฐีไอที
บิล เกตส์ ไม่ใช่อภิมหาเศรษฐีจากกลุ่มธุรกิจไอทีเพียงผู้เดียวที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จากการรายงานในเวบไซต์ The New Economy ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจไอทีหรือเทคโนโลยีเป็น “ผู้ให้” รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมอบเงินและทรัพย์สินให้แก่การกุศลคิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 9.8 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2014 หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 47% ของเงินบริจาคทั้งหมดในสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่ากลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ
โดยอภิมหาเศรษฐีที่เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด 50 รายแรกในสหรัฐ มีหลายรายที่มาจากธุรกิจไอที ไม่ว่าจะเป็น“แจน คูม” ผู้ก่อตั้ง Whatsapp ที่บริจาคมากกว่า 500 ล้านเหรียญฯ, “ฌอน ปาร์คเกอร์” ผู้ร่วมก่อตั้ง Napster บริจาค 550 ล้านเหรียญฯ , “นิโคลัส วูดแมน” ผู้ก่อตั้ง GoPro ก็บริจาค 500 ล้านเหรียญฯ ให้แก่มูลนิธิซิลิกอน แวลเลย์ คอมมูนิตี้ และ “เซอร์เกย์ บริน” ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล ก็บริจาคให้แก่การกุศลถึง 400 ล้านเหรียญฯ เช่นกัน
และจะไม่กล่าวถึงหนุ่มรายนี้คงไม่ได้ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ซึ่งสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่า 35,100 ล้านเหรียญฯ จากการก่อตั้งเฟซบุ๊ก มาร์กได้ชื่อว่าทำงานเพื่อสังคมมานานแล้วก่อนที่เขาจะมีชื่อเสียงเช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการศึกษาในสหรัฐฯ เขาได้ก่อตั้งมูลนิธิ “Startup:Education” ขึ้นในปี 2010 และในปีเดียวกันเขาได้บริจาคให้โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในนิวเจอร์ซีย์ด้วยเงินถึง 100 ล้านเหรียญฯ
ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง “คริส ฮิวส์” ก็อุทิศตนเพื่อการกุศลเช่นกัน โดยในปีที่แล้ว ฮิวส์และ “ดริว ฮูสตัน”ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Dropbox ได้ประกาศก่อตั้งมูลนิธิ GiveDirectly ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใจบุญสามารถบริจาคได้โดยตรงไปถึงครอบครัวที่ขาดแคลนในเคนยาและอูกันดา ซึ่งวิธีนี้เป็นรูปแบบใหม่ของการบริจาค โดยทำให้การบริจาคเป็นเรื่องง่ายและตรงจุดมากขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ต้องการรู้ว่าเงินที่ตนเองบริจาคนั้นไปไหน
ขณะที่มหาเศรษฐีจากธุรกิจการเงิน ที่เคยเป็นผู้บริจาครายใหญ่ของโลก ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะมุ่งบริจาคเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น  แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” อภิมาเศรษฐีนักลงทุน ผู้มอบเงินส่วนใหญ่เพื่อการกุศลมาอย่างต่อเนื่อง และยังชักชวนให้มหาเศรษฐีรายอื่นทำเช่นเดียวกันด้วย
The Giving Pledge พันธะสัญญาแห่งการให้
ภาพจาก www.nytimes.com
ในปี 2010 วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ บิล เกตส์ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ The Giving Pledge (พันธะสัญญาแห่งการให้) โดยเป็นโครงการที่จะขอให้อภิมหาเศรษฐีทั่วโลกร่วมบริจาคอย่างน้อย “ครึ่งหนึ่ง” ของทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่การกุศล และปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีมหาเศรษฐีเข้าร่วมโครงการแล้วถึง 137 รายใน 14 ประเทศ โดยตัวบิล เกตส์ เองก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยการมอบทรัพย์สินกว่า 73,800 ล้านเหรียญฯ ให้แก่มูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์
มหาเศรษฐีทั้งหมดที่ร่วมลงนามใน The Giving Pledge จะถูกประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการพร้อมกับจดหมายแสดงเจตนารมณ์ของพวกเขาในเวบไซต์ (givingpledge.org) โดยการลงนามนี้เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ และไม่มีผลใดๆ ทางกฏหมาย โดยผู้ลงนามจะบริจาคขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเมื่อเสียชีวิตแล้วก็ได้ ตัวอย่างมหาเศรษฐีติดอันดับใน Fortunes ที่ร่วมลงนามในโครงการนี้ อาทิ “พอล อัลเลน” ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์ (ความมั่งคั่งสุทธิ 13,200 ล้านเหรียญฯ), “แลร์รี เอลลิสัน” ผู้ก่อตั้งออราเคิล (ความมั่งคั่งสุทธิ 50,000 ล้านเหรียญฯ), “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” (ความมั่งคั่งสุทธิ 35,100 ล้านเหรียญฯ), “ไมเคิล บลูมเบิร์ก” (ความมั่งคั่งสุทธิ 35,000 ล้านเหรียญฯ) และ “จอร์จ ลูคัส” ผู้กำกับหนังฮอลลีวูดชื่อดัง (ความมั่งคั่งสุทธิ 5,000 ล้านเหรียญฯ) เป็นต้น
แลร์รี เอลลิสัน กล่าวไว้ในจดหมายแสดงเจตนารมย์ว่า “หลายปีมาแล้วที่ผมมอบทรัพย์สินเกือบทั้งหมดให้ทรัสต์บริหาร โดยตั้งใจจะมอบเข้าการกุศลอย่างน้อย 95% ของความมั่งคั่งทั้งหมดที่ผมมี ที่จริงผมมอบเงินหลายร้อยล้านเหรียญฯ เพื่อการวิจัยและการศึกษาทางการแพทย์ และยังมีแผนจะให้อีกหลายพันล้านเหรียญฯ ซึ่งผมทำแบบเงียบๆ เพราะเชื่อมาโดยตลอดว่าการบริจาคเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล แต่ที่ตัดสินใจเข้าร่วมใน The Giving Pledge ในครั้งนี้ ก็เพราะวอร์เรน บัฟเฟตต์มาขอผมเป็นการส่วนตัว ให้ร่วมลงนามและเขียนจดหมายฉบับนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นหันมาให้บ้าง ซึ่งผมหวังว่าความคิดของเขาจะถูกต้อง”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มหาเศรษฐีทุกรายจะใจบุญกันเสียทั้งหมด ผู้ก่อตั้งแอปเปิลอย่าง “สตีฟ จอบส์” ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการ The Giving Pledge ดังกล่าว และย้อนไปก่อนหน้านั้น เมื่อเขาหวนคืนกลับไปบริหารแอปเปิลในปี 1997 เขารื้อโครงการช่วยเหลือสังคมของแอปเปิลออกหมด โดยมีรายงานว่า สตีฟ จอบส์ เชื่อว่าการขยายธุรกิจแอปเปิลก็คือการสร้างประโยชน์ให้แก่โลกใบนี้ได้มากกว่าการบริจาคเงิน โดยในเรื่องนี้ “มัลคอล์ม แกลดเวลล์” นักเขียนชื่อก้องโลกยังเคยให้สัมภาษณ์แก่ CNN ว่า อีกไม่เกิน 50 ปี คนจะลืมชื่อ สตีฟ จอบส์ ไปหมดสิ้น หากแต่จะยังจำชื่อของ บิล เกตส์ ได้ดี จากงานเพื่อสังคมที่เขาทำอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ และอาจมีรูปปั้นของบิล เกตส์ เต็มไปหมดในประเทศโลกที่สาม
ทั้งนี้ นอกจากมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ แล้ว ปัจจุบัน บิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ เริ่มเชิญชวนมหาเศรษฐีจากประเทศอื่นๆ ให้มาร่วมประกาศพันธะสัญญา The Giving Pledge เช่นกัน ข้ามมาดูในฝั่งเอเชียอย่าง “แจ็ค มา”มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีนผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ที่แม้จะยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แต่เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่รายใหญ่ที่สุดในจีนในปีที่ผ่านมา จากการบริจาคหุ้นอาลีบาบาให้แก่ทรัสต์เพื่อการกุศลของเขาเป็นจำนวนถึง 2,400 ล้านเหรียญฯ
ทรัสต์เพื่อการกุศลด้วยของเขาจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านสาธารณสุข, การศึกษา และสิ่งแวดล้อมในจีน โดยมีเงินทุนคือหุ้นของแจ็ค มา ในสัดส่วน 2% ของหุ้นอาลีบาบาทั้งหมด ขณะที่ในจีนยังมีมหาเศรษฐีใจบุญที่บริจาคเงินมหาศาลค่อนข้างน้อย แม้บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเคยเดินสายจัดดินเนอร์ให้แก่มหาเศรษฐีจีนในกรุงปักกิ่งเพื่อแนะนำโครงการ The Giving Pledge ก็ตาม แต่ยังไม่มีมหาเศรษฐีจีนรายใดเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
อุทิศเงิน…อุทิศสมอง หวังโลกใบใหม่ที่ดีขึ้น 
อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นเรื่องดีที่เห็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นอัจฉริยะ “ระดับโลก” เหล่านี้ทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม โดยมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ๆ หลายรายนอกจากบริจาคตัวเงินแล้ว พวกเขายังอุทิศ “มันสมอง” อย่างหนักเพื่อเข้ามาทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์อีกด้วย
            “ไมเคิล มูดี” อาจารย์จาก Johnson Center for Philanthropy จาก Grand Valley State University กล่าวกับเวบไซต์ Philanthropy.com ว่า กลุ่มมหาเศรษฐีอายุน้อยและหัวคิดทันสมัยเหล่านี้ ต้องการนำแนวคิดที่สดใหม่มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสังคมในระยะยาว พวกเขามองหาวิธีการใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้โลกนี้ดีขึ้นอยู่เสมอ “ซึ่งแนวคิดนี้เองที่ทำให้พวกเขามีความมั่งคั่งมหาศาล” เช่นเดียวกับ “อูนา โอซิล” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยจาก Lilly Family School of Philanthropy แห่ง Indiana University ที่กล่าวว่า “เศรษฐีอายุน้อยเหล่านี้รู้ดีว่ามันสมองและความฉลาดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พวกเขาใช้มันสมองในชีวิตการทำงาน และตอนนี้พวเขาจึงนำมาประยุกต์ใช้กับการกุศลด้วยเช่นกัน พวกเขาเอาแนวคิดดีๆ เข้ามาใช้กับการกุศลเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สังคม”
บิล เกตส์ เคยให้สัมภาษณ์แก่ The Telegraph ว่าเขาและภรรยาอยู่ในจุดที่เรียกว่ามีทุกสิ่งเกินพอแล้ว และจากนี้ไปเขาต้องการใช้ประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ “ผมและภรรยาคุยเรื่องนี้กันมามาก ว่าเราจะจัดสรรความมั่งคั่งที่พวกเราได้มาด้วยความโชคดีนี้อย่างไร เพื่อให้ความมั่งคั่งของเราเกิดประโยชน์สูงสุดต่อโลกใบนี้ เราสองคนปลุกปั้นไมโครซอฟต์มาและเห็นว่าหากคุณมีองค์ประกอบเหล่านี้ครบ ทั้งนวัตกรรม ความเก่ง และความสามารถในการเลือกสิ่งที่ใช่ คุณก็สามารถนำมารวมกันสร้างประโยชน์ให้โลกได้อีกมหาศาล”
ภาพจาก https://thephilanthropicmind.files.wordpress.com
เผย 5 แนวโน้มของ “การให้” แห่งอนาคต
ต้นปีนี้ Forbes Insight ได้จัดทำผลสำรวจ BNP Paribas Individual Philanthropy Index 2015 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 400 รายทั่วโลกที่มีทรัพย์สินมากกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลการสำรวจพบว่า เทรนด์ของการช่วยเหลือหรือทำประโยชน์ให้สังคมต่อไปในอนาคตจะมี 5 รูปแบบหลักด้วยกัน ได้แก่ 1. การลงทุนเพื่อสังคม(Impact investing) ซึ่งเป็นข้อที่ได้รับความสำคัญมากที่สุด (52% ของกลุ่มตัวอย่าง) โดยการลงทุนเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นการช่วยเหลือการกุศล แต่เป็นการลงทุนในกิจการที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม 2. การร่วมมือกันช่วยเหลือ (51%) และ 3. การแบ่งปันข้อมูล แนวทางปฏิบัติ และความสามารถ(51%) ด้วยความที่องค์กรเพื่อสังคมทุกวันนี้แตกแขนงออกไปมากมายหลายกลุ่ม การร่วมมือกันจึงเป็นวิธีที่จะทำให้เกิดประสิทธิผล ปัจจุบันจึงเริ่มมีหน่วยงานเพื่อสังคมหลายแห่งหันมาร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลกันมากขึ้น
              4. การจัดการที่ต้นเหตุปัญหาสังคม (48%) ไม่ใช่เพียงการเยียวยาไปตามอาการ เช่น การช่วยเหลือคนไร้ถิ่นฐาน เดิมอาจช่วยเพียงจัดหาที่พักอาศัยหรืออาหารให้เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน วิธีนี้หมายถึงการเปลี่ยนระบบการช่วยเหลือไปที่ต้นตอของปัญหา เพื่อดูว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านี้ไร้ถิ่นฐานตั้งแต่แรก และจะแก้ปัญหาระบบในสังคมอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก และสุดท้ายคือ 5. การร่วมให้ทุนสนับสนุนการทำกิจการเพื่อสังคม (Venture philanthropy) (45%) วิธีนี้ได้รับความนิยมสูงในสหรัฐอเมริกา โดยรูปแบบการร่วมลงทุนอาจอยู่ในรูปของการให้ทุน การซื้อหุ้น หรือการให้กู้ยืม โดยผู้ร่วมทุนยังเข้าไปช่วยพัฒนาการดำเนินงานของกิจการนั้นๆ ด้วย อาทิ การสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์ เป็นต้น
แม้ว่าจะการบริจาคของเหล่าเศรษฐีเหล่านี้จะก่อให้เกิดเสียงชื่นชมมากมาย แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่จ้องจับผิดและบอกว่าพวกเขาทำไปเพื่อหวังโปรโมตภาพลักษณ์ของตัวเองหรือของธุรกิจเท่านั้น และหากพวกเขาหวังชื่อเสียงจริง แล้วเป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือ? อย่างน้อยเงินของพวกเขาก็ยังได้ถูกใช้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมและคนที่เดือดร้อน รวมถึงยังนำแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ จากสมองอันเฉียบคมของพวกเขามาช่วยแก้ปัญหาให้แก่โลกนี้อีกด้วย หากเศรษฐีไทยจะลองหันมาใช้แนวคิดนี้บ้างก็คงต้องส่งเสียงเชียร์ดังๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น